ต้อหิน (Glaucoma)

ต้อหิน คือ ภาวะที่ขั้วประสาทตา (optic disc) ถูกทำลาย มีผลให้ลานสายตา(visual field) เสีย และแคบลงเรื่อยๆ จนถึงกับมืดไปทั้งหมด หรือตาบอดได้ โดยผู้ป่วยจะเริ่มมีการสูญเสียบริเวณขอบข้างของลานสายตาก่อน ซึ่งทำให้สังเกตถึงความผิดปรกติได้ยาก ถ้าไม่ได้รับการตรวจรักษา โรคจะลุกลามทำลายลาน สายตามากขึ้น ทำให้ลานสายตาแคบลงเข้าสู่จุดศูนย์กลางการมองเห็น จนทำให้ผู้ป่วยรู้สึกถึงการมองเห็นที่ผิดปรกติ ซึ่งมักจะเป็นระยะท้ายๆของโรคแล้ว โรคต้อหินส่วนใหญ่จะมีความดันลูกตา (intraocular pressure) ที่สูงผิดปกติร่วมด้วย ทำให้เวลาคลำลูกตาจะรู้สึกว่าลูกตามีความแข็งเหมือนหินในสมัยก่อน จึงเรียกโรคนี้ว่า “ต้อหิน”

ความดันตาเฉลี่ยของคนปกติจะอยู่ระหว่าง 10-20 มม.ปรอท ดังนั้นหากพบผู้ใดมีความดันตาสูงกว่า 20 มม.ปรอท โดยที่ยังมีขั้วประสาทตาและลานสายตาปกติ เราเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ผู้เฝ้าระวังต้อหิน (Glaucoma suspect) และคนกลุ่มนี้ควรได้รับการตรวจต้อหินอย่างละเอียดและติดตามการเปลี่ยนแปลงของตาอย่างใกล้ชิดโดยจักษุแพทย์ เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้น จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นต้อหินมากกว่าคนที่มีความดันตาปกติ

คนที่เป็นต้อหินมักมีความดันตามากกว่า 30 มม.ปรอท โรคนี้เมื่อเป็นแล้วประสาทตาจะไม่กลับคืนมาเป็นปกติ แม้ว่าความดันตาจะลดลงในภายหลัง อย่างไรก็ตาม ต้อหินบางชนิดสามารถป้องกันได้ หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาได้ทันท่วงที



ความดันตาสูงขึ้นได้อย่างไร



ภายในลูกตาของเรา จะมีน้ำ aqueous humor (ผลิตโดยciliary process)ซึ่งเป็นแหล่งอาหารมาหล่อเลี้ยงอวัยวะภายในตา การไหลเวียนของสารน้ำนี้ มีทิศทางการไหลจากช่องหลังลูกตา (posterior chamber) ผ่านรูม่านตา( pupil) ไปสู่ช่องหน้าลูกตา (anterior chamber ) แล้วจะระบายออกจากตาโดยผ่านมุมม่านตา (Iridocorneal angle) ดูรูปประกอบตามลูกศรสีส้ม



ดังนั้น หากมุมม่านตาแคบหรือมีปัจจัยใดที่ ทำให้การไหลเวียนไม่สะดวก ย่อมส่งผลต่อความดันตาที่สูงขึ้น นอกจากนี้หากมีการผลิต aqueous humor มากเกินไป แต่มุมม่านตากว้างปกติ ก็ย่อมทำให้ความดันตาสูงขึ้นได้เช่นกัน



อาการของต้อหิน



เนื่องจากโรคต้อหินมีการดำเนินอย่างช้าๆ ความดันในตาค่อยๆเพิ่มดังนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยมีอาการ นอกจากผู้ป่วยบางรายที่เป็นแบบเฉียบพลัน จะมีอาการเห็นไม่ชัด เมื่อมองแสงไฟจะเห็นรุ้งกินน้ำเป็นวงๆ ปวดตา ปวดศีรษะ โรคต้อหินเป็นได้ทุกอายุ คนที่มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้แก่ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นต้อหิน ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน ดังนั้นแพทย์แนะนำให้มีการตรวจตาเป็นประจำ แนะนำว่าผู้ที่อายุ 4 ปีควรได้รับการตรวจคัดกรองโรคต้อหิน หากปกติก็ให้ตรวจทุก 2-4 ปี สำหรับผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปีควรได้รับการตรวจคัดกรองทุก 2 ปีสำหรับท่านที่มีความเสี่ยงต่อโรคต้อหินควรได้รับการตรวจคัดกรอง ตั้งแต่อายุ 35 ปี



ผู้ที่มีความเสี่ยง



1.ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี

2.ผู้ที่มีประวัติของคนในๆครอบครัวเป็นต้อหิน

3.ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน

4.ผู้ที่มีสายตาสั้นมาก

4.ผู้ป่วยโรคต่อมธัยรอยด์

5.ผู้ที่ใช้ยา steroid เป็นเวลานาน

เราจะแบ่งต้อหิน(primary glaucoma) ออกเป็น 2 ชนิด ตามลักษณะมุม Iridocorneal angle (มุมที่เป็นทางระบายน้ำ aqueous humor ออกจากตา) ดังนี้



1. ต้อหินมุมเปิด



คนไข้จะไม่มีอาการปวดตาในระยะแรก การดำเนินโรคจะค่อยเป็นค่อยไป แต่จะมีความดันตาสูงโดยตลอด และมักเป็นทั้ง 2 ตา เมื่อตรวจตาภายหลัง จะพบว่าขั้วประสาทตาถูกทำลาย (C/D ratio > 0.5) หรือ ต่างกันมากกว่า 0.2 ในตาทั้ง 2 ข้างปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดต้อหินชนิดนี้

- พันธุกรรม ผู้ที่มีญาติใกล้ชิด บิดา มารดา เป็นต้อหินชนิดนี้

- คนที่มีความดันตาสูงกว่า 20 มม.ปรอท

- คนที่เป็นโรคเกี่ยวกับการไหลเวียนเลือด

- เบาหวาน



2.ต้อหินมุมปิด แบ่งเป็นชนิดเฉียบพลัน และ ชนิดเรื้อรัง



ต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน ต้อหินชนิดนี้ เป็นภาวะรีบด่วนทางตา หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องและทันเวลา ตาอาจบอดได้ คนไข้จะมีอาการปวดตา หรือ ปวดศรีษะข้างนั้นมาก ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ตามัว เห็นแสงสีรุ้งรอบดวงไฟ ตรวจพบตาแดง (ciliary injection) รูม่านตาขยาย (pupil fixed semidilate) พบมุมม่านตาแคบ คลำตาบริเวณเปลือกตาบนจะแข็งและตึงมาก ( ความดันตาสูงมากกว่า 30 มม.ปรอท)แต่ขั้วประสาทตายังไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ต้อหินมุมปิดเรื้อรัง คนไข้มักไม่มีอาการ มุมม่านตาปิดเป็นหย่อมๆ ความดันตาค่อยๆสูงขึ้น ขั้วประสาทตามีรอยบุ๋ม ลานสายตาแคบลง มุมม่านตาแคบ


อย่างไรก็ตาม ต้อหินยังพบได้ในคนที่ใช้ยาไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะผู้ที่ชอบซื้อยาหยอดตามาใช้เอง คนไข้ที่ใช้ยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของคอร์ติโคสเตียรอยด์ มาเป็นเวลานาน อาจทำให้ความดันตาสูงขึ้นได้ มีโอกาสเป็นต้อหินได้มากกว่าคนทั่วไป ดังนั้นจึงควรใช้ยาด้วยความระมัดระวังและใช้ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น และที่สำคัญก่อนใช้ยาหยอดตา ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางก่อนนะคะ

ที่มา Siamhealth.net
 
 
บริษัท สมาร์ท วิชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด 1811,1813 ถ.จรัญสนิทวงศ์ บางพลัด กทม 10700 Tel. 0 2433 4755-6 E-mail : crm.svt@gmail.com Fb : www.facebook.com/smartvision99 Line ID :@smartvision
กรุณาเลือกหัวข้อ

แจ้งแก้ไข ซ่อมแซมแว่นตา

ตรวจสุขภาพสายตาเคลื่อนที่สำหรับบุคคลหรือหน่วยงาน

อบรมให้ความรู้เรื่องสายตา,โรคตา,การดูแลสุขภาพตานอกสถานที่

Name
:
Email
:
Telephone
:
Detail
: